วันจันทร์ที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2561

เครื่องดนตรีสากล ประเภท (เป่า) เครื่องเป่าลมไม้

เครื่องลมไม้ (Woodwind Instruments)

เครื่องดนตรีประเภทเครื่องลมไม้แบ่งอย่างกว้างๆ ได้ 2 ประเภทคือขลุ่ยและปี่ ถ้าเป็นประเภทขลุ่ยจะไม่มีลิ้น เป่าลมผ่านท่อในลักษณะของการผิว เช่น ฟลุ้ต พิคโคโล ถัาเป็นประเภทปี่จะต้องเป่าลมผ่านลิ้น ซึ่งมีทั้งลิ้นคู่ เช่น บาสซูน โอโบและลิ้นเดี่ยว เช่น คลาลิเน็ต แซ็กโซโฟน เป็นต้น
คลาริเน็ต (Clarinet)


คลาริเน็ต เป็นเครื่องดนตรีประเภทเครื่องลมไม้ ใช้ลิ้นเดี่ยว คลาริเน็ตมีใช้อยู่หลายชนิด เช่น บีแฟล็ตคลาริเน็ต เบสคลาริเน็ต อีแฟลตคลาริเน็ต เป็นต้น ลำตัวปี่คลาริเน็ตมีทั้งที่ทำด้วยไม้ หรือเรซิน ลำตัวปี่จะกลวง เปลี่ยนระดับเสียงโดยใช้นิ้วและคีย์โลหะบุนวมปิดเปิดรู ปี่คลาริเน็ตจะมีรูปร่างคล้ายกับโอโบ แตกต่างกันที่ปากเป่า (กำพวด) คุณภาพเสียงของปี่คลาริเน็ต จะมีช่วงเสียงกว้างและทุ้มลึก มีนิ้วพิเศษที่ทำเสียงได้สูงมากเป็นพิเศษ
แซ็กโซโฟน (Saxophone)

เครื่องดนตรีในตระกูลแซ็กโซโฟนสร้างขึ้นโดย อดอฟ แซ็ก (Adolphe Sax) แห่งเมืองบรัชเซล (Brussels) ประเทศเบลเยี่ยม เมื่อปี ค.ศ.1840
เครื่องดนตรีในตระกูลแซกโซโฟนทั้งหมดจะใช้กำพวดที่มีลิ้นเดี่ยวเหมือนกับคลาริเน็ต แต่ลำตัวจะเป็นทรงกรวยเหมือนโอโบ ลำตัวทำด้วยโลหะเหมือนเครื่องทองเหลือง ปากลำโพงจะโค้งงอย้อนขึ้นมา เสียงของแซ็กโซโฟนเป็นลักษณะผสมผสาน มีทั้งความพริ้วไหว ความกลมกล่อมและความเข้มแข็งปะปนกัน แซ็กโซโฟนมีหลายขนาด แต่ละขนาดมีระดับเสียงต่างกัน ดังนี้
โซปราโน แซ็กโซโฟน (ระดับเสียงบีแฟล็ต)
อัลโต แซ็กโซโฟน (ระดับเสียงอีแฟล็ต)
เทนเนอร์ แซ็กโซโฟน (ระดับเสียงบีแฟล็ต)
บาริโทน แซ็กโซโฟน (ระดับเสียงอีแฟล็ต)
เบส แซ็กโซโฟน ( ระดับเสียงบีแฟล็ต)
ซับคอนทร้าเบส แซ็กโซโฟน ( ระดับเสียงบีแฟล็ต และอีแฟล็ต)
โอโบ (Oิboe)

โอโบ คือเครื่องดนตรีประเภทเครื่องลมไม้ โอโบและเครื่องดนตรีอื่นๆ ในตระกูลโอโบ เช่นบาสซูน และอิงลิซฮอร์นเป็นเครื่องดนตรีประเภทลิ้นคู่ ลำตัวโอโบเป็นรูปทรงกรวยทำด้วยไม้ แบ่งเป็น 3 ท่อน เวลาจะใช้ต้องต่อเข้าด้วยกัน มีรูสำหรับใช้นิ้วปิดเปิด 6 รู และมีคีย์โลหะบุนวมต่อเป็นระบบกลไกเชื่อมโยงสำหรับปิดเปิดรูอีกด้วย คุณภาพเสียงของโอโบมีความแหลมเสียดแทงและมีลักษณะเป็นเสียงนาสิก
คำว่าโอโบที่ใช้ในปัจจุบันนี้มีมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 17 ใช้ในการแสดง โอเปร่า ฝรั่งเศส เรียกว่า “hautbois” ในศตวรรษที่ 18 โอโบใช้เป็นเครื่องดนตรีหลักในวงออร์เคสตร้า เป็นเครื่องดนตรีเสียงสูงในกลุ่มเครื่องลมไม้ ซึ่งในขณะนั้นมีรูปิดเปิด เพียง 2 – 3 รูเท่านั้น
ในศตวรรษที่ 19 โอโบได้พัฒนาในเรื่องระบบกลไก คีย์ กระเดื่อง สำหรับปิดเปิดรู เพื่อเปลี่ยนระดับเสียงให้เล่นสะดวกมากขึ้น จนในที่สุดโอโบคือเครื่องดนตรีหลักที่จะต้องมีในวงออร์เคสตร้า
อิงลิซฮอร์น (ENGLISH HORN)

อิงลิซฮอร์น คือเครื่องดนตรีในกลุ่มเครื่องลมไม้ บางครั้งจะเรียกว่า คอร์อังแกล (Cor anglais) มีเสียงเหมือนโอโบ แต่ต่ำกว่าในระดับคู่ 5 จึงเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า อัลโตโอโบ (Alto Oboe) อิงลิซฮอร์นเป็นเครื่องดนตรีที่มีลิ้นคู่มีเสียงโหยหวน โศกเศร้า
บาสซูน (Bassoon)

บาสซูน คือเครื่องดนตรีในกลุ่มเครื่องลมไม้ อยู่ในตระกูลโอโบมีลิ้นคู่ สามารถบรรเลงได้ตั้งแต่ระดับเสียงบาริโทนจนถึงระดับเสียงเบส โดยปกติจะนำไปใช้บรรเลงโน้ตในระดับเสียงต่ำ บาสซูนเป็นเครื่องดนตรีสำคัญอีกเครื่องหนึ่งในวงควอเต็ท สำหรับเครื่องลมไม้ ซึ่งประกอบขึ้นด้วย ฟลุ้ต คลาริเน็ต โอโบ และบาสซูน คุณภาพเสียงของบาสซูนในช่วงเสียงสูงจะแหลม เสียงในช่วงกลางจะทึบ กลวง ไม่หนักแน่น ส่วนมากแล้วมักจะใช้เสียงของบาสซูนแสดงถึงความตลกขบขัน บาสซูนที่นำมาผสมวงดนตรีในปัจจุบันมี 2 ชนิด ได้แก่
Bassoon
Contrabassoon หรือ Double bassoon
ฟลุ้ต (Flute)

ฟลุ้ต เป็นเครื่องดนตรีอยู่ในกลุ่มเครื่องลมไม้ มีท่อกลวง เกิดเสียงโดยการเป่าลมผ่านส่วนปากเป่า ผู้เล่นต้องถือฟลุ้ตให้ขนานกับพื้น ฟลุ้ตในระยะแรกทำด้วยไม้ ปัจจุบันฟลุ้ตทำด้วยโลหะ เสียงของฟลุ้ตในระดับสูงมีความแจ่มใส เสียงในระดับต่ำมีความนุ่มนวล
ระบบกลไกการปิดเปิด และระบบการวางนิ้วของฟลุ้ตสมัยใหม่ได้รับการออกแบบโดย ทีโอบัลด์ โบเอม ( Theobald Boehm) ชาวเยอรมัน ซึ่งระบบกลไกของ ทีโอบัลด์ โบเอม ที่คิดค้นขึ้นมาเป็นที่ยอมรับในวงการดนตรีทั่วโลก ทุกคนเรียกระบบนี้ว่า Boehm System
พิคโคโล (Piccolo)

พิคโคโล เป็นเครื่องดนตรีในกลุ่มเครื่องลมไม้ จัดอยู่ในตระกูลฟลุ้ต ลำตัวมีทั้งทำด้วยไม้ โลหะและเรซิน ระดับเสียงสูงกว่าฟลุ้ตอยู่ 1 ช่วงคู่แปด ขนาดเล็กกว่าฟลุ้ตครึ่งหนึ่ง จึงทำให้มีคุณภาพเสียงที่สดใสและแหลมมาก เสียงในระดับต่ำของพิคโคโลจะดังไม่ชัดเจน พิคโคโลจึงเหมาะที่จะใช้ในการเล่นในระดับเสียงกลางและเสียงสูงมากกว่าในระดับเสียงต่ำ เครื่องดนตรีที่มีเสียงแหลมเหมือนพิคโคโล ซึ่งอยู่ในตระกูลฟลุ้ตมีอีกหลายชนิด เช่น panpines, recorder เป็นต้น
รีคอร์ดเดอร์ (RECORDER)

รีคอร์ดเดอร์ เป็นเครื่องดนตรีเก่าแก่ จัดอยู่ในกลุ่มเครื่องลมไม้ นิยมเล่นมากในศตวรรษที่ 16 และ 17 และได้รับการพัฒนาเรื่อยมา รีคอร์ดเดอร์มีรูสำหรับใช้นิ้วปิดเปิด 8 รู ลำตัวจะเป็นทรงกรวย เดิมทำด้วยไม้ ในยุคหลังมีการใช้วัสดุชนิดอื่นมาผลิตแทนไม้ เช่น พลาสติก หรือเรซิน มีปากเป่าลักษณะเหมือนกับนกหวีด คุณภาพเสียงของรีคอร์ดเดอร์จะนุ่มนวลบางเบา สดใส
รีคอร์ดเดอร์มีทั้งหมด 10 ระดับเสียง แต่มีเพียง 6 ระดับเสียงที่นำมาใช้มาก ได้แก่
โซปรานิโน (Sopranino) มีความยาวประมาณ 24 เซ็นติเมตร
เดสแคนท์ (Desant) หรือ โซปราโน (Soprano) มีความยาวประมาณ 31 เซ็นติเมตร
เทร็บเบิ้ล (Treble)หรือ อัลโต (Alto) มีความยาวประมาณ 47 เซ็นติเมตร
เทเนอร์ (Tenor) มีความยาวประมาณ 64 เซ็นติเมตร
เบส ( Bass) มีความยาวประมาณ 94 เซ็นติเมตร
คอนทร้าเบส (Contra-bass)

ไฟฟ์(Fife)

ไฟฟ์เป็นเครื่องเป่าคล้ายฟลุ้ต ไม่มีระบบกลไก เป็นเครื่องดนตรีพื้นฐานอย่างง่าย จัดอยู่ในเครื่องดนตรีประเภทลมไม้ ลำตัวมีทั้งทำด้วยโลหะ พลาสติกและเรซิน เสียงอยู่ในระดับสูง นำมาใช้เป็นเครื่องดนตรีสำหรับบรรเลงทำนองง่ายๆร่วมกับกลองสะแนร์เพื่อนำขบวนการเดินพาเหรดของหมู่ทหารในการผลัดเปลี่ยนเวรยามรักษาการณ์ตามพระราชวังต่างๆในยุโรป หรือรวมกันเป็นจำนวนมากบรรเลงร่วมกับเครื่องตีกระทบจังหวะพื้นฐาน ได้แก่กลองใหญ่ กลองสะแนร์ ฉาบ มาร์ชชิ่งเบลล์ กล็อกเค็นสปีล หรือมาร์ชชิ่งไซโลโฟนก็ได้ เพลงที่นำมาบรรเลงควรเป็นเพลงสั้นๆ โครงสร้างทำนองไม่สลับซับซ้อน และไม่ควรอยู่ในบันไดเสียงที่ต่ำเกินไป จังหวะที่ใช้ประกอบการบรรเลงไฟฟ์จะเป็นจังหวะมาร์ชเสียเป็นส่วนมาก ในปัจจุบันสถานศึกษาต่างๆได้นำเอาไฟฟ์มาเป็นเครื่องดนตรีสำหรับให้นักเรียนนักศึกษาฝึกปฏิบัติเพื่อการเรียนรู้ทฤษฎีู้ดนตรีสากลขั้นพื้นฐาน


Cr.nattarin310.wordpress

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น